Subscribe:

วันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555

อาหารอย่างไรที่เหมาะสมกับชีวิต

อาหารสุขภาพ

                คำว่าอาหารสุขภาพนั้นมีมานานแล้ว มีมาทุกยุค แนวความคิดเรื่องอาหารสุขภาพได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ตามความเชื่อของสังคมแต่ละสังคม ดังนั้นสูตรอาหารธรรมชาติจึงมีมากมาย จนทำให้เราสับสนว่าอะไรคือ อาหารสุขภาพกันแน่
                ในประเทศไทยเมื่อร้อยปีที่แล้ว อาหารสุขภาพของเราคือ ข้าวและพืชผักผลไม้ตามบ้าน ต่อมาอาหารสุขภาพกลายเป็นอาหารประเภท เนื้อ นม ไข่ เพื่อสร้างความโตใหญ่ของร่างกายตามแบบชาวตะวันตก และความเชื่อเรื่องอาหาร เนื้อ นม ไข่ ก็ยังมีอยู่มาตลอดจนถึงวันนี้ แต่ในรอบ 5 – 10 ปีมานี้แนวคิดเรื่องอาหารสุขภาพของไทยเริ่มมีคนพูดถึงการลดเนื้อสัตว์ลง และเน้นอาหารจำพวกพืชผักผลไม้และข้าวกล้องกันมากขึ้น อาหารสุขภาพในยุคนี้จึงกลับไปคล้ายอาหารยุคร้อยปีที่แล้วอีกครั้ง
                ในต่างประเทศก็มีกระแสอาหารสุขภาพแบบนี้เช่นกัน คนเริ่มสนใจอาหารธรรมชาติกันมากขึ้น ลดอาหารเนื้อ นม ไข่ ซึ่งเป็นอย่างนี้มากขึ้นทึกที จนถ้าพูดถึงอาหารสุขภาพในวันนี้ก็จะหมายถึง อาหารจำพวกพืชผักผลไม้มากกว่าเนื้อสัตว์
                ที่จริงอาหารทุกชนิดมีข้อดีและข้อด้อยต่างกันไป ไม่มีอาหารที่วิเศษสุดที่เหมาะสำหรับทุกคน แต่การพิจารณาเรียกอาหารใดว่าเป็นอาหารสุขภาพนั้น จะใช้หลักการที่ทุกคนยอมรับได้ นั่นคืออาหารสุขภาพคืออาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่มีสารพิษหรือสิ่งปนเปื้อน เรียกว่าเป็นอาหารที่สะอาด มีคุณค่าครบหมู่ตามที่ร่างกายต้องการ แบบนี้เป็นลักษณะของอาหารที่ดี
                การสร้างสุขภาพด้วยธรรมชาตินั้น ยังมีหลักพิจารณาในเรื่องของความเป็นธรรมชาติมากขึ้นด้วย ในเรื่องของความสดของอาหาร ชนิดของอาหารที่เหมาะสมกับฤดูกาล และยังรวมถึงวิธีกินอาหารให้ได้ประโยชน์สูงสุดอีกด้วย
                เนื่องจากอาหารสุขภาพนั้นยังมีข้อถกเถียงกันมากอยู่ มีสูตรอาหารมากมายดังนั้นผมจึงขอเสนอแนะเป็นเพียงหลักการกว้างๆ ไม่ลงในรายละเอียดนะครับ อาหารที่เราควรกินมีลักษณะดังนี้
  •                 อาหารมีสารพิษน้อย
  •                 ข้าวกล้องหรือข้าวที่ผ่านการขัดสีน้อยครั้ง
  •                 ลดการกินเนื้อสัตว์ทุกชนิด
  •                 กินอาหารตามท้องถิ่นและฤดูกาล
  •                 อาหารสดใหม่
  •                 ลดของหวาน

วันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2555

เส้นทางสู่ความไม่มีโรค

                
                เส้นทางที่จะนำเราไปสู่ความไม่มีโรคนั้น จะว่าเป็นเรื่องยากก็ยาก จะว่าเป็นเรื่องง่ายก็ง่าย ที่จริงวิธีการนั้นง่ายๆ แต่การกระทำนั้นค่อนข้างยาก ที่ยากเพราะว่าเรามักจะเคยชินกับการใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ซึ่งมักเป็นชีวิตที่ทำลายสุขภาพเสียมาก เราจึงปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตให้เป็นแบบใหม่ที่สอดคล้องกับธรรมชาติดั้งเดิมได้ยากหน่อย
                แต่สิ่งที่ยากไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ มันยากเพราะเรายังไม่เคยชินมากกว่า เราจึงไม่อยากเปลี่ยนแปลงความเคยชินแบบเดิมๆ ของเราไปหาสิ่งใหม่ๆ ที่เราก็ไม่แน่ใจว่าจะดีกว่าชีวิตแบบเดิมๆ ของเราหรือไม่
                เราอาจต้องรอจนถึงวันหนึ่งที่ร่างกายของเราเตือนเราด้วยการเจ็บป่วยขึ้นมา เราจึงจะหาทางปรับเปลี่ยนชีวิตของเราเสียใหม่ สังเกตไหมครับว่า ชีวิตของคนเจ็บป่วยกับชีวิตของคนปกตินั้นต่างกันอย่างไร เราคงอยากมีชีวิตแบบปกติเหมือนเดิม แต่ชีวิตแบบเดิมๆ นั้นอาจเป็นต้นเหตุให้เราเกิดโรคในวันนี้ก็ได้ ถ้าเราไม่แก้ไขที่การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเราซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญ เราก็ไม่อาจมีสุขภาพที่ดีกลับคืนมาได้อีก
                โรคเรื้อรังที่ชาวโลกทั้งโลกกำลังเป็นกันอย่างมากมายเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็ง โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือภูมิแพ้ก็ตาม โรคเหล่านี้เป็นโรคที่ไม่มียารักษา มีแต่การใช้ยาบรรเทาอาการไปตลอดชีวิตเท่านั้น เราไม่อาจหายขาดจากโรคนี้ได้ด้วยยา
                โรคที่คุกคามชาวโลกวันนี้ สังเกตดูดีๆ จะพบว่ามันมีสาเหตุมาจาก พฤติกรรมไม่ใช่โรคที่เกิดจากเชื้อโรคเหมือนสมัยโบราณ แต่เป็นโรคที่เกิดจากการใช้ชีวิตที่ผิดธรรมชาติของคนเรา ทั้งด้านอาหารการกิน ที่อยู่อาศัย การทำงาน และสิ่งแวดล้อมของสังคม สิ่งเหล่านี้ไม่เอื้อให้เกิดภาวะสุขภาพดี แต่กลับเป็นปัจจัยเอื้อให้เกิดโรคภัยมากกว่า ที่ร้ายกว่านั้นคือเราไม่รู้ตัวว่าการใช้ชีวิตของเรา เป็นต้นเหตุให้เกิดโรคขึ้นมา เราจึงไม่ได้แก้ไขที่ต้นเหตุสำคัญ แต่แก้ไขที่ปลายเหตุเพื่อให้อาการทุเลาลง กลบเกลื่อนอาการต่างๆ ไว้ ทำให้โรคซุกซ่อนอยู่ภายในและแพร่ขยายตัวมากขึ้น เกิดเป็นโรคที่ร้ายแรงกว่าเดิมขึ้นตามมาเป็นระลอกๆ
                เส้นทางที่จะนำเราไปสู่สุขภาพดีนั้นจึงมีเคล็ดลับสำคัญคือ การใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ